วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ซากดึกดำบรรพ์

ซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์หมายถึง ซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิต ทั้งที่มีกระดูกสันหลัง และไม่มีกระดูกสันหลัง และพืช ซึ่งถูกเก็บรักษาเอาไว้ในสภาพที่กลายเป็นหิน หรือแร่ ในชั้นหินของเปลือกโลก โดยกระบวนการทางธรรมชาติเท่านั้น ตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ เช่น สุสานหอย จังหวัดกระบี่ ไดโนเสาร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทย
เมื่อไดโนเสาร์ตาย ส่วนอ่อนๆ เช่น เนื้อและหนังจะเน่าเปื่อยหลุดไป เหลือแต่ส่วนแข็ง เช่น กระดูกและฟัน ซึ่งจะถูกโคลนและทรายทับถมเอาไว้ ถ้าการทับถมของโคลนทรายเกิดขึ้นอย่าวรวดเร็วก็จะคงเรียงรายต่อกันในตำแหน่งที่มันเคยอยู่เป็นโครงร่าง แต่หากการทับถมเกิดขึ้นอย่าง ช้าๆกระดูกก็จะมีโอกาสถูกทำให้กระจัดกระจายปะปนกัน การทับถมของโคลนทรายทำให้อากาศและออกซิเจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของแบคทีเรียไม่สามารถเข้าถึง ซากได้ ขณะเดียวกันน้ำและโคลนที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลไซต์ เหล็กซัลไฟด์และซิลิก้าก็ค่อยๆซึมเข้าไปในเนื้อกระดูก อุดตันโพรงและช่องว่างที่มีอยู่ ทำให้กระดูกเหล่านั้นแกร่งขึ้น สามารถรับน้ำหนักของหิน ดิน ทรายที่ทับถมต่อมาภายหลังได้ นานๆเข้ากระดูกจะกลายเป็นหิน มีเพียงฟันที่ไม่ค่อยจะถูกแปรสภาพเท่าไรเนื่องจากฟันเป็นส่วนที่แข็งที่สุด บางครั้งแร่ธาตุบางอย่างเข้าไปกัดกร่อนละลายกระดูกและทิ้งลักษณะกระดูกไว้เป็นโพรง โพรงเหล่านี้จึงกลายเป็นเสมือนแม่พิมพ์และต่อมาเมื่อแร่ธาตุอื่นเข้าไปอยู่เต็มโพรงก็จะเกิดเป็นรูปหล่อ ของชิ้นกระดูก บางครั้งเมื่อไดโนเสาร์ตายใหม่ๆแล้วถูกทับถมด้วยโคลนแล้วเนื้อหนังเปื่อยเน่าเป็นโพรงก็จะเกิดรูปหล่อของรอยผิวหนังทำให้เรารู้ลักษณะของผิวหนัง ในที่บางแห่งซากไดโนเสาร์ ถูกน้ำพัดพามาทับถมอยู่ด้วยกันเกิดเป็นชั้นสะสมของกระดูกไดโนเสาร์
นอกจากฟอสซิลกระดูก ฟันและร่องรอยของผิวหนังแล้ว ไดโนเสาร์ยังทิ้งรอยเท้าไว้บนโคลน ฟอสซิลรอยเท้าเหล่านี้ทำให้ทราบ ถึงชนิด ลักษณะท่าทางของไดโนเสาร์เช่น เดิน 2 ขาหรือ 4 ขา เชื่องช้าหรือว่องไว อยู่เป็นฝูงหรืออยู่เดี่ยวๆ บางครั้งพบมูลของไดโนเสาร์กลายเป็นฟอสซิล เรียกว่า คอบโปรไลท์ ซึ่งทำให้ทราบถึงขนาดและลักษณะของลำไส้ ไข่ไดโนเสาร์ที่พบเป็นฟอสซิลก็ทำให้ทราบว่าไดโนเสาร์ออกลูกเป็นไข่ บางครั้งพบตัวอ่อนอยู่ในไข่ทำให้รู้ว่าเป็นไข่ของไดโนเสาร์ชนิดไหน นอกจากนี้ยังมีการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ในลักษณะกำลังกกไข่อยู่ในรัง ทำให้รู้ว่าไดโนเสาร์บางชนิดก็ดูแลลูกอ่อนด้วย
เมื่อยุคไดโนเสาร์ผ่านไปหลายล้านปีชั้นของทรายและโคลนยังคงทับซากไดโนเสาร์ไว้จนกลายเป็นหินและถูกผนึก ไว้ในชั้นหินด้วยซีเมนต์ธรรมชาติได้แก่ โคลนทราย จนเมื่อพื้นผิวโลกมีการเคลื่อนตัว ชั้นหินบางส่วนถูกยกตัวสูงขึ้นแล้วเกิดการกัดกร่อนทำลายชั้นหินโดยความร้อนจากดวงอาทิตย์ ความเย็นจากน้ำแข็ง ฝน และลม จนกระทั่งถึงชั้นที่มีฟอสซิลอยู่ทำให้บางส่วนของฟอสซิลโผล่ออกมาเป็นร่องรอยให้นักวิทยาศาสตร์มาขุดค้นต่อไป
เนื่องจากไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก มีชีวิตอยู่ในช่วงยุค Triassic ถึง Cretaceous หรือประมาณ 245-65 ล้านปีมาแล้ว ดังนั้นซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์จึงพบอยู่ในชั้นหินตะกอนที่สะสมตัวบนบกในช่วงยุค Triassic ถึง Cretaceous หรือหินในช่วงมหายุค Mesozoic จากการสำรวจธรณีวิทยาในประเทศไทย พบว่าหินที่มีอายุดังกล่าวพบโผล่อยู่ทั่วไปในบริเวณที่ราบสูงโคราชและพบเป็นแห่งๆในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย ชั้นหินดังกล่าวประกอบด้วย หินดินดาน หินทรายแป้ง หินทรายและ หินกรวดมนมีสีน้ำตาลแดงเป็นส่วนใหญ่ ตอนบนของหินชุดนี้มีชั้นของเกลือหินและยิปซั่มอยู่ด้วย เนื่องจากชั้นหินเหล่านี้มีสีแดงเกือบทั้งหมดจึงเรียกหินชุดนี้ว่า ชั้นหินตะกอนแดง(red bed) ซึ่ง เรารู้จักกันในชื่อ กลุ่มหินโคราช หินกลุ่มนี้มีความหนากว่า 4,000 เมตร ดังนั้นจึงพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากมายหลาย แห่ง เช่น ภูเวียง ภูพาน และภูหลวงเป็นต้น
การค้นหาฟอสซิลของไดโนเสาร์ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นในทศวรรษที่ผ่านมานี้เองโดยโครงการศึกษาวิจัยฟอสซิลของสัตว์ มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี ก่อนหน้านี้มีรายงานการวิจัยฟอสซิลของสัตว์มีกระดูกสันหลังน้อยมาก ในปีพ.ศ.2519 กรมทรัพยากรธรณีได้ค้นพบกระดูกขนาดใหญ่ จากภูเวียง จังหวัดขอนแก่นแต่ผลการวิจัยขณะนั้นทราบเพียงว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด พวกกินพืช เดิน 4 เท้า คอยาว หางยาว มีความยาวประมาณ 15 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นรายงานการ ค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาในปีพ.ศ.2524 และ2525ได้มีการสำรวจที่บริเวณภูเวียงอีกทำให้พบกระดูกส่วนต่างๆของไดโนเสาร์และสัตว์อื่นๆเป็นจำนวนมากอยู่ในชั้นหิน จึง นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการค้นหาฟอสซิลไดโนเสาร์อย่างจริง


ประโยชน์ของการศึกษาซากดึกดำบรรพ์
ประมาณ 4,600 ล้านปีมาแล้ว นับจากนั้นมาสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวแรกเริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 ล้านปีมาแล้ว และได้มีวิวัฒนาการซับซ้อนสูงมาจนถึงมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งในช่วงแรกๆ ยังไม่พบซากดึกดำบรรพ์ ปลากฏให้เห็น ซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่สำรวจพบ มีอายุ 500-600 ล้านปี การศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยาหรือโบราณชีววิทยา (Paleontology) นี้ทำให้เราได้ทราบถึงลักษณะ และวิวัฒนาการของสัตว์ต่างๆ
ทำให้ทราบถึงและเป็นหลักฐานในการศึกษาสภาพแวดล้อมลักษณะการสะสมตัวของชั้นหิน สภาวะอากาศสมัยบรรพกาล สภาพภูมิประเทศสมัยโบราณในขณะที่สัตว์เหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ คือ บอกเล่าถึงธรณีประวัติของโลก หรือเปรียบเสมือนสมุดบันทึกเล่มใหญ่เล่าความเป็นมาของโลก และสิ่งมีชีวิตบนโลกนั่นเอง
เป็นข้อมูลเพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์เปรียบเทียบระหว่างชั้นหินในพื้นที่ต่างๆ กัน เช่น ถ้าพบซากดึกดำบรรพ์กลุ่มเดียวกันและเป็นชนิด (Species) เดียวกัน แน่นอน แสดงว่าในชั้นหินที่พบซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวนั้น แม้ว่าอยู่ที่ต่างกัน แต่เกิดการสะสมตัวเป็นชั้นตะกอนในแอ่งสะสมตัวในช่วงเวลาเดียวกัน เรียกว่ามีอายุเดียวกันทางธรณีกาล ทำให้นักธรณีวิทยาสามารถหาอายุเปรียบเทียบชั้นหินได้ ซากดึกดำบรรพ์จึงเป็นหลักฐานที่ดีอย่างหนึ่งในการศึกษา และหาความสัมพันธ์ของชั้นหินตะกอน ซึ่งในการศึกษาอย่างละเอียดร่วมกับการศึกษาและการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ามาก เช่น เครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ ทำให้มีความสำคัญต่อการหาแหล่งทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น การหาแหล่งน้ำมัน ถ่านหิน เชื้อเพลิง ธรรมชาติอื่นๆ และแร่เศรษฐกิจ
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์บริเวณแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์หลายชนิดในชั้นหินของหมวดหินเสาขัว บริเวณแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง ดังนี้
บริเวณแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมไทรันนัส
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมไทรันนัส ถูกค้นพบที่บริเวณหินลาดยาว อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 โดยพบกระดูกสันหลังหลายชิ้นโผล่ออกมาจากชั้นดินทรายสีแดงของหินหมวดเสาขัว ต่อมาพบกระดูกสะโพกด้านซ้าย และกระดูกส่วนหางอีกหลายชิ้นเรียงต่อกัน หลังจากที่คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้วก็พบว่า เป็นไดโนเสาร์ตระกูลใหม่ของไทย จึงได้ตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
ซากดึกดำบรรพ์ภูเวียงโกซอรัส
ซากดึกดำบรรพ์ภูเวียงโกซอรัส ถูกค้นพบที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนคอ 3 ชิ้น กระดูกสันหลังส่วนกลางตัว 4 ชิ้น กระดูกซี่โครงหลายชิ้น กระดูกสะบักซ้ายและส่วนปลายสะบักขวา กระดูกต้นขาหน้าซ้าย บางส่วนของกระดูกแขน กระดูกสะโพกทั้งสองข้าง กระดูกต้นขาทั้งสองข้าง และกระดูกหน้าแข้งซ้าย ลักษณะของกระดูกที่พบบอกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ มีขนาดใกล้เคียงกับ คัมมาราซอรัส ที่ถูกค้นพบในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว จึงอัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ (Phuwiangosauraus sirindhornae)
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมซอรัส
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมซอรัส พบเพียงแค่ฟัน ที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยฟันที่ค้นพบมีลักษณะเป็นแท่งกรวยปลายแหลม มีสันเล็กๆ ยาวตลอดฟัน ซึ่งต่างจากฟันของไดโนเสาร์เทอโรพอดทั่วไป ที่แบน และมีรอยหยัก สันนิษฐานว่าสยามโมซอรัสเป็นเทอโรพอดที่มีลักษณะปากคล้ายสัตว์เลื้อยคลานพวกกินปลา หรือเพลสซิโอซอร์ และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวราวุธ สุธีธร ผู้ค้นพบ ว่า สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni)
ซากดึกดำบรรพ์คาร์โนซอร์
ซากดึกดำบรรพ์คาร์โนซอร์ พบเพียงแค่ฟัน ที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยฟันที่ค้นพบมีลักษณะแบน ปลายแหลม โค้งงอเล็กน้อยคล้ายมีดโค้ง ที่ขอบมีรอยหยักเหมือนมีดหั่นเนื้อ ฟันลักษณะนี้เป็นฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่พวกเทอโรพอด ซึ่งคาดว่าเป็นไดโนเสาร์คาร์โนซอร์
จากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากที่แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียงนี่เอง ทำให้บริเวณนี้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2535 และเป็นอุทยานไดโนเสาร์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซากดึกดำบรรพ์ซิททาโคซอรัส
ซิททาโคซอรัส เป็นไดโนเสาร์ปากนกแก้วชนิดหนึ่ง แต่เดิมพบเฉพาะในบริเวณประเทศจีน ประเทศมองโกเลีย และไซบีเรีย สำหรับในประเทศไทยพบซากดึกดำบรรพ์ซิททาโคซอรัสที่จังหวัดชัยภูมิ ในชั้นหินของหมวดหินโคกกรวด ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่เป็นกะโหลกด้านซ้าย และกรามล่างด้านขวาที่มีฟันครบ และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายนเรศ สัตยารักษ์ ผู้ค้นพบ ว่า ซิททาโคซอรัส สัตยารักษ์คิ (Psittacosaurus sattayaraki)
ซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์
ดร.จงพันธ์ จงลักษมณี นักโบราณชีววิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ได้พบฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ ขนาดตัวยาวเพียง 20 ซม. ในหินปูนยุคไทรแอสสิกตอนปลาย ที่เขาทอง จังหวัดพัทลุง อิกธิโอซอร์ที่พบตัวนี้มีวิวัฒนาการอยู่ในช่วงปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในทะเลยังไม่สมบูรณ์ดี แขนทั้งสองข้างยังเปลี่ยนเป็นใบพายไม่สมบูรณ์นัก รูปร่างและโครงสร้างของกะโหลกยังเหลือร่องรอยของการสืบทอดจาก บกอยู่มาก
ฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ชิ้นนี้นั้บเป็นอิกธิโอซอร์ที่โบราณมาก แตกต่างไปจากพวกที่เคยพบมาแล้ว จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ไทยซอรัส จงลักษมณี" (Thaisaurus chonglakmanii) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ
ไดโนเสาร์ : ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ( Phuwiangosaurus sirindhornae , Martin,Buffetaut and Suteethorn,1994 )
การค้นหาซากดึกดำบรรพ์สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส แต่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการผ่านกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส เริ่มในปี พ.ศ. 2531 โดยเน้นหนักทางด้านซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพ ฯ กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส และCentre National de la Recherche Scientifique (Paris) ในปี พ.ศ. 2519 นายสุธรรม แย้มนิยม จากโครงการสำรวจแร่ยูเรเนี่ยม ได้ค้นพบกระดูกขนาดใหญ่ท่อนหนึ่ง ที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น ซึ่งได้รับความสนใจจากนักโบราณชีววิทยา ชาวฝรั่งเศส จึงได้ทำการตรวจสอบวิจัยในเวลาต่อมา แต่ผลของการวิจัยไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นไดโนเสาร์สกุลใด เพียงแต่บอกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด พวกกินพืช เดิน 4 เท้า คอยาว หางยาว โดยไดโนเสาร์นี้มีความยาวประมาณ 15 เมตร นับว่าเป็นรายงานการค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจากการสำรวจของคณะสำรวจไดโนเสาร์ ไทย – ฝรั่งเศส ได้ขุดพบกระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอดอีกหลายแห่งและมีจำนวนมากพอที่จะทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด คณะสำรวจ ฯ จึงได้ทำการคัดเลือกนักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยปารีสมาทำการวิจัยในหัวข้อเรื่อง “ ไดโนเสาร์ซอโรพอด ยุคครีเตเชียสตอนต้น ของประเทศไทย ” โดยมี ดร. อิริค บุพโต และ นายวราวุธ สุธีธร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รายงานการวิจัยสำเร็จและได้นำเสนอเมื่อ เดือน พ.ย. 2537 พบว่าซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ซอโรพอดที่ขุดพบในประเทศไทยเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ จึงได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานพระราชานุญาตอันเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อไดโนเสาร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่ทรงขัดข้อง ฉะนั้นไดโนเสาร์นี้จึงมีชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่,Phuwiangosaurus sirindhornae , Martin, Bbuffetaut and Suteethorn,1994 รายงานการวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส COMPTESRENDUS DE L A CADEMIE DES SCIENCES, T.319, serie II, sohk 1085 – 1092 เมื่อปี ค.ศ. 1994

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น